รองผู้ว่าฯ สตูล ร่วมต้อนรับคณะตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ. 2566

รองผู้ว่าฯ สตูล ร่วมต้อนรับคณะตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ. 2566

----------------------------------

วันนี้ (8 พ.ค. 66) ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยนางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงเรียนรู้ควบคู่การผลิตเพื่อยังชีพบ้านควนโท๊ะ และกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนสมาชิกเครือข่าย ร่วมต้อนรับคณะตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ.2566

.

การประเมินฯในครั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เสนอผลงาน "สร้างเงิน สร้างคน วิถีแก้จน แบบคนควนโทะ" เพื่อขอรับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ซึ่งมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ และมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนให้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนา เปลี่ยนแปลง และส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ผลงานที่จะสามารถนำไปต่อยอดและเป็นต้นแบบให้นำไปปรับใช้ได้ รวมทั้งสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งผลงานดังกล่าวได้ผ่านการตรวจประเมินขั้นตอนที่ 1 (ตรวจประเมินจากเอกสาร) ใน "ระดับดี" แล้ว และในวันนี้ (8 พ.ค. 66) คณะกรรมการผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจประเมินในขั้นตอน ที่ 2 (การตรวจ ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน) โดยรับฟังการนำเสนอผลงาน "สร้างเงิน สร้างคน วิถีแก้จน แบบคนควนโทะ" ซักถามข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดขึ้นไปได้อีก เพื่อพิจารณาคัดเลือกผลงานใน "ระดับดีเด่น" ต่อไป พร้อมกันนี้คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมที่ทำการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงเรียนรู้ควบคู่การผลิตเพื่อยังชีพบ้านควนโทะ ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล อีกด้วย

.

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงเรียนรู้ควบคู่การผลิตเพื่อยังชีพบ้านควนโทะ ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการกลุ่ม รวมถึงพัฒนาตัวเองเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการเกษตรและสามารถเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจได้ มีแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตของชุมชน ให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่า 200-300 ราย พร้อมมีเครือข่ายการผลิตสินค้าที่มีการเชื่อมโยงทั้งภายใน-ภายนอกพื้นที่ เป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาเรื่องการไม่มีที่ดินทำกินของเกษตรกร ด้วยการรวมกลุ่มกัน เพื่อขอใช้ที่สาธารณะขององค์การบริหารส่วนตำบล และจุดเด่นในการจัดตั้งตลาดเกษตรชุมชน (บริเวณหน้าแปลงเพาะปลูก) โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดหวาน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสมาชิกและคนในชุมชน เพื่อจำหน่ายสินค้า แก้ปัญหาสินค้าไม่มีที่จำหน่าย เน้นจำหน่ายสินค้าปลอดภัย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ มาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานและซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

ภาพ-ข่าว: ศุภาพิชญ์ ดวงไข / ส.ปชส.สตูล

8 พ.ค. 66


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar